เกี่ยวกับมูลนิธิ
ประวัติมูลนิธิสงเคราะห์เด็ก พัทยา
ปี ค.ศ. 1972 ( พ.ศ. 2515) บาทหลวงเรย์มอนด์ แอลลีน เบรนนัน พระสงฆ์คณะมหาไถ่ ได้รับการขอร้องให้ไปช่วยงานที่วัดเซนต์นิโคลัส พัทยา เป็นการชั่วคราว และเช้าวันหนึ่งเมื่อท่านเปิดประตูโบสถ์ก็พบว่า มีเด็กแบเบาะถูกทิ้งไว้ที่หน้าบันได ท่านไม่ทราบว่าจะทำอย่างไร จึงเลี้ยงดูเด็กไว้ โดยถามเพื่อน ๆ ว่า “จะให้นมอย่างไร เปลี่ยนผ้าอ้อมอย่างไร ” ข่าวการเลี้ยงดูเด็กได้แพร่กระจายออกไป ทำให้มีคนนำเด็กมามอบให้ท่านมากขึ้น ซึ่งส่วนมากเป็นผลมาจากการเข้ามาตั้งฐานทัพของทหารสหรัฐที่สัตหีบ ในระหว่างสงครามเวียดนาม พัทยาได้กลายเป็นแหล่งที่นิยมของทหารอเมริกัน จี .ไอ. ผู้ซึ่งเดินทางมาพักผ่อนและคลายเครียด จึงทำให้มีเด็กถูกทอดทิ้งจำนวนมาก นายทหารและคุณพ่อเรย์ ได้ปรึกษากันที่จะหาแนวทางช่วยเหลือ ที่สุดทั้งสองได้ไปพบพระคุณเจ้าเทียนชัย สมานจิต
ประมุขสังฆมณฑลจันทบุรีที่สำนักพระสังฆราช ศรีราชา แจ้งให้ทราบว่า ทหารผ่านศึกอเมริกันมีความประสงค์ที่จะสร้างบ้านเด็กกำพร้า ที่พัทยา มอบให้แก่สังฆมณฑลจันทบุรี โดย คุณพ่อเรย์ เบรนนัน อาสาเป็นผู้บริหารจัดการ เนื่องจากพบว่ามีเด็กกำพร้ามากมายเกิดจากทหารอเมริกัน ในสมัยที่ประจำอยู่ที่ฐานทัพอเมริกัน อู่ตะเภาระหว่างทำสงครามกับเวียดนาม พระสังฆราชเทียนชัยได้ตอบกับทหารอเมริกันว่า คุณสร้างบ้านเด็กกำพร้านั้นไม่ยาก แล้วคุณก็ล้างมือกลับบ้าน ส่วนสัฆมณฑลจะเอาเงินจากไหนมาเลี้ยงดู เด็กกำพร้าเหล่านั้น จึงได้ขอเงินทุนจากเขา 500,000 บาท (ห้าแสนบาทถ้วน) เป็นการประเดิม ทหารอเมริกันก็เห็นดีด้วย ตอบตกลง แต่ขอเวลา 5 ปี
หลังจากนั้นพระสังฆราช เทียนชัย ก็ได้ปรึกษาหารือกับคณะที่ปรึกษาว่า จะรับมอบบ้านเด็กกำพร้า พัทยาหรือไม่ ที่ปรึกษาบางคนก็แย้งว่า ไม่ควรสร้างบ้านเด็กกำพร้า เพราะเหมือนเป็นการสนับสนุนให้มีเด็กกำพร้าง่ายขึ้นและมากขึ้น บางคนก็บอกว่าแม้ไม่มีบ้านเด็กกำพร้า เด็กกำพร้าก็มีอยู่แล้วมากมาย
ที่สุดทางสังฆมณฑลก็มีมติตกลงรับมอบบ้านเด็กกำพร้า พัทยา เป็นของ สังฆมณฑล คุณพ่อเรย์และทหารอเมริกันก็จัดการสร้างบ้านเด็กกำพร้าขึ้นในที่ดินของสังฆ มณฑล ( 19 ไร่ ) โดยสังฆมณฑลกำหนดให้ใช้ที่ดิน 5 ไร่ด้านหลังเป็นบริเวณของบ้านเด็กกำพร้า บราเดอร์คอนนี่ คณะพระมหาไถ่เป็นผู้ออกแปลนดำเนินการก่อสร้าง ส่วนที่ดิน 14 ไร่ด้านหน้าถนนสังฆมณฑลขอสงวนไว้
ในระยะเริ่มแรก คุณพ่อเรย์ ได้ติดต่อเซอร์คณะภคีนี (เซอร์) คณะเซนต์ปอล เดอ ชาร์ตร มาเป็นแม่บ้านดูแลเด็ก
วันที่ 24 ตุลาคม พ.ศ. 2521 ผู้ว่าราชการจังหวัดชลบุรีได้ออกใบอนุญาตให้ตั้งสถานสงเคราะห์เด็กพัทยา
วันที่ 1 มีนาคม พ.ศ. 2522 พระคุณเจ้าเทียนชัย ได้ติดต่อซิสเตอร์คณะรักกางเขนแห่งจันทบุรี มาทำหน้าที่แทน จนถึงปัจจุบัน
วันที่ 9 มกราคม พ.ศ. 2524 เลขาธิการคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ ได้ออกใบอนุญาตให้จัดตั้ง มูลนิธิสงเคราะห์ เด็กพัทยา
วันที่ 27 มีนาคม พ.ศ.2524 ได้รับอนุญาตให้เป็นองค์กรสวัสดิภาพเด็ก ดำเนินการเพื่อให้มีการรับเด็กเป็นบุตรบุญธรรมทั้งชาวไทย และชาวต่างประเทศ เมื่อครบ 5 ปี ทางทหารผ่านศึกอเมริกันได้รวบรวมเงิน 500,000 บาท (ห้าแสนบาท) มามอบให้บ้านเด็กกำพร้า พัทยา ตามที่เคยสัญญาไว้
ในปี พ.ศ. 2538 ได้สร้างอาคาร 3 ชั้น เป็นที่พักของเด็กชายและพนักงานพี่เลี้ยง
ในปี พ.ศ. 2542 ได้สร้างอาคาร 5 ชั้น เป็นสถานที่เรียนของโรงเรียนอนุบาลโสตพัฒนา สำหรับเด็กใบ้และหูหนวก และเป็นที่พักของเด็กกำพร้ารุ่นเล็กทั้งชายและหญิง
ในปี พ.ศ. 2544 ได้สร้างอาคาร 2 ชั้น ชั้นล่างเป็นห้องรับประทานอาหาร ชั้นที่สองเป็นหอประชุมเอนกประสงค์ เป็นการก่อสร้างชิ้นสุดท้ายสำหรับมูลนิธิสงเคราะห์เด็กพัทยา
ในปี พ.ศ. 2546 หลังจากคุณพ่อเรย์ ได้มรณะภาพคุณพ่อบรรจง ไชยรา และคุณพ่อแลรี่ แพทิน ได้บริหารงานของมูลนิธิ สืบต่อมา
ในปี พ.ศ. 2549 ได้มีการบูรณะซ่อมแซมอาคารหลังแรกเป็นการใหญ่ จนกระทั่งวันที่ 1 มกราคม พ.ศ. 2551 สังฆมณฑลจันทบุรี ได้มอบหมายให้ คุณพ่อวีระ ผังรักษ์ เป็นผู้อำนวยการมูลนิธิสงเคราะห์เด็กพัทยา และคุณพ่อกฤษฎา สุขพัฒน์ เป็นผู้ช่วยผู้อำนวยการปัจจุบันมูลนิธิสงเคราะห์เด็กพัทยา มีเด็กกำพร้าซึ่งอยู่ในความดูแลตั้งแต่แรกเกิด จนถึงกำลังศึกษาอยู่ในระดับมหาวิทยาลัย ประมาณ 160 คน
วัตถุประสงค์
1.เพื่อให้การสงเคราะห์เด็กกำพร้า โดยการรับเลี้ยงเด็กกำพร้าที่ยากจน และให้การบริการทางด้านที่พัก อาหาร การศึกษา โดยไม่จำกัดเชื้อชาติ ศาสนา
2.เพื่อจัดหาครอบครัวที่มีความพร้อม ที่ต้องการรับเด็กกำพร้าเป็นบุตรบุญธรรม ตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการรับเด็กเป็นบุตรบุญธรรม
3.เพื่อให้การศึกษาแก่เด็กกำพร้า ตามสติกำลังเท่าที่ความสามารถจะเรียนได้ และจัดหางานให้เด็กทำเมื่อจบการศึกษา
4.เพื่อร่วมมือกับองค์การการกุศลอื่น ๆ ที่ทำงานเกี่ยวกับเด็ก เพื่อสาธารณประโยชน์
คำถามที่พบบ่อย
ถาม : เด็ก ๆ เข้ามาอยู่ในความอุปการะของมูลนิธิฯได้อย่างไร?
ตอบ : เด็กส่วนมากมารดาเป็นผู้นำมามอบให้มูลนิธิฯ ด้วยสาเหตุหลายประการ บางคนมาจากครอบครัวที่มีฐานะยากจน แต่ปัญหาที่เป็นสาเหตุส่วนใหญ่ มาจากความแตกแยกของครอบครัว บิดามารดาเด็กแยกทางกัน ทางมูลนิธิฯ รับไว้เพื่อช่วยเหลือส่งเสริมให้เด็กมีพัฒนาการที่สมบูรณ์ พร้อมที่จะพัฒนาตนเอง มีชีวิตอย่างปกติสุข
ถาม : เด็กทุกคนสามารถรับอุปการะเป็นบุตรบุญธรรมได้หรือไม่?
ตอบ : ไม่ทุกคน การรับเด็กเป็นบุตรบุญธรรม ขึ้นอยู่กับความพร้อมของหลักฐานประจำตัวของเด็กและของบิดามารดา กรณีที่เด็กถูกทอดทิ้ง การติดตามหาหลักฐานค่อนข้างยาก อย่างไรก็ตาม แม้พวกเขาเหล่านั้น ไม่สามารถจัดเป็นบุตรบุญธรรมได้ เด็กจะได้รับการดูแลเอาใจใส่ในการเลี้ยงดูให้เขามีศักดิ์ศรี มีอนาคตที่ดี สามารถปรับตัวเข้ากับสังคมได้อย่างมีความสุข
ถาม : มีเด็กได้รับเชื้อเอชไอวี /เอดส์หรือไม่?
Answer: ไม่มีค่ะ เราตรวจเด็กทารกทุกคนเป็นประจำเพื่อตรวจหาเชื้อไวรัสเอชไอวี แม้ว่าประเทศไทยจะมีอัตราการติดเชื้อเอชไอวี/เอดส์สูงก็ตาม เด็กที่นำส่งให้เรามีจำนวนน้อยมากที่ได้รับเชื้อ และหากเราพบว่าเด็กได้รับเชื้อเอชไอวี เราจะส่งเด็กไปยังองค์กรอื่นที่เชี่ยวชาญในการดูแลผู้ติดเชื้อเอชไอวี/เอดส์ โดยเฉพาะ
ถาม : มีขั้นตอนใดบ้างสำหรับการขอรับอุปการะเด็กจากมูลนิธิ?
ตอบ : ท่านต้องยื่นใบสมัครขอรับอุปการะเด็กเป็นบุตรบุญธรรม ผ่านตัวแทนในประเทศของท่าน ที่ได้รับใบอนุญาตถูกต้องตามกฎหมายจากศูนย์อำนวยการรับเด็กเป็นบุตรบุญธรรม เจ้าหน้าที่หน่วยงาน จะให้ข้อมูลขั้นตอนรายละเอียดเพื่อให้ท่านเตรียมเอกสารเพื่อประกอบการ พิจารณา
ถาม : เด็กที่มูลนิธินี้มีโอกาสเรียนถึงระดับใด?
ตอบ : เด็กทุกคนมีโอกาส ได้รับการศึกษาทุกระดับ ตามสติปัญญาความสามารถของเด็ก ทางมูลนิธิ ฯ มีนโยบายฯให้เด็กเรียนถึงระดับปริญญาตรี
ถาม : เด็ก ๆ จะสามารถอยู่ที่มูลนิธิได้นานแค่ไหน?
ตอบ : เด็กอยู่ในความดูแลของมูลนิธิฯ จนกว่าเด็กจะจบการ ศึกษา มีงานทำ และพร้อมที่จะหาประสบการณ์ชีวิตเพื่อช่วยเหลือตนเอง และเมื่อประสบปัญหาทางมูลนิธิฯยินดีให้คำปรึกษาและช่วยเหลือเป็นรายกรณี อย่างไรก็ตามความสัมพันธ์ระหว่างเด็กกับมูลนิธิฯ ยังคงเหมือนเดิม
ถาม : เราสามารถให้ความช่วยเหลือได้อย่างไร?
ตอบ : ท่านสามารถให้ความช่วยเหลือได้หลายวิธีบริจาคเป็นเช็คหรือเงินสด มอบทุนการศึกษาเด็ก นมผงเด็ก ซื้อของใช้มามอบให้ หรือเป็นเจ้าภาพเลี้ยงอาหารเด็ก
สุขภาพ
เนื่องจากเรามีพยาบาลซึ่งดูแลประจำที่มูลนิธิเต็มเวลาและมีกุมารแพทย์ที่ปรึกษามาเยี่ยมทุกอาทิตย์ทำให้เด็ก ๆ ของเรามีสุขภาพที่ดีมาก
เมื่อเด็กเข้ามายังมูลนิธิ พยาบาลจะทำการตรวจร่างกายเพื่อดูสภาพร่างกาย รวมทั้งเด็กทารกทุกคนจะได้รับการตรวจร่างกายจากพยาบาลอย่างสม่ำเสมอ และ ได้รับการตรวจอีกครั้งจากแพทย์ เช่นเดียวกับหลายประเทศทั่วโลก กระทรวงสาธารณสุขของประเทศไทยได้แนะนำให้เด็กได้รับภูมิต้านทานและฉีดวัคซีน เพื่อป้องกันโรค เช่น โรคคอตีบ บาดทะยัก ไอกรน และโปลิโอ ซึ่งเด็กของเราทุกคนได้รับการฉีดวัคซีนรับภูมิต้านทานตามกำหนด
แม้ว่าเราจะมีทารกและเด็ก ๆ อยู่ร่วมกันเป็นจำนวนมาก แต่เราพบว่าโอกาสที่เกิดการแพร่ระบาดของ โรคปอด และอีสุกอีใสมีน้อยมาก ทั้งที่โรคเหล่านี้สามารถแพร่ระบาดได้อย่างรวดเร็ว นอกจากนี้ เรามีห้องพยาบาลที่กันเด็กป่วยออกต่างหาก เพื่อให้การดูแลเป็นพิเศษและไม่แพร่เชื้อไปสู่เด็กคนอื่น เจ้าหน้าที่พยาบาลของเราสามารถรักษาอาการเล็กน้อยที่เกิดกับเด็กได้ และหากเด็กมีอาการป่วยรุนแรง เราก็สามารถขอความช่วยเหลือจากโรงพยาบาลในแถบนี้ได้
สิ่งอำนวยความสะดวก
เรามีห้องเรียนหลายห้องและมีห้องสมุดหนึ่งห้องที่สามารถใช้นั่งทำการบ้าน และเรียนเพิ่มเติมในช่วงปิดภาคเรียน มีห้องคอมพิวเตอร์ที่ทันสมัยสำหรับเด็กได้เรียนเพิ่มเติมและใช้ในการทำ การบ้าน
ห้องรับประทานอาหารเดิมเริ่มเล็กเกินกว่าจะรองรับจำนวนเด็กทั้งหมดของเรา ดังนั้นจึงได้มีการสร้างห้องประชุมใหม่ซึ่งมีขนาดใหญ่กว่าเดิมในปี 2000 (พ.ศ 2543) ให้เด็กได้รับประทานอาหารร่วมกัน ชั้นบนของห้องรับประทานอาหารเป็นห้องประชุมใหญ่ ใช้ในการจัดงานเนื่องในโอกาสพิเศษ เช่น วันเฉลิมพระชนมพรรษาของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว พระบรมราชินีนาถ และงานคริสต์มาส (แม้ว่าเด็กส่วนใหญ่จะนับถือศาสนาพุทธ แต่เราก็จัดของขวัญวันคริสต์มาสให้เด็ก) เรายังเคยใช้ห้องประชุมนี้ในการจัดงานเลี้ยงสมรสให้กับเด็กในบ้านของเรา
ที่มูลนิธิสงเคราะห์เด็กมีสนามหญ้าที่ใช้เป็นสนามฟุตบอล มีที่เล่นวอลเล่ย์บอล ตะกร้อ และบาสเกตบอล ถนนรอบ ๆ บริเวณ ใช้เป็นสถานที่ให้เด็ก ๆ ปั่นจักรยาน มีบริเวณปลูกผักสวนครัว ปลูกพืชสมุนไพรมากมาย เครื่องเทศและพริกต่าง ๆ ที่คนไทยใช้ในการประกอบอาหาร ทั้งยังมีไม้ผลหลายชนิด เช่น กล้วย มะพร้าว มะม่วง มะละกอ ผลไม้เหล่านี้มักไม่ค่อยได้อยู่จนโตเต็มที่นักเพราะเด็ก ๆ ชอบกินผลไม้ในขณะที่มันยังอ่อนและดิบอยู่
การศึกษา
เราเชื่อว่าการศึกษาเป็นสิ่งที่สำคัญที่สุดสิ่งหนึ่ง ที่เด็กควรได้รับ ดังนั้นเราจึงค่อย ๆ ปลูกฝังให้เด็กของเราเห็นความสำคัญของการศึกษาตั้งแต่เล็ก ๆ มีการจัดการเรียนการสอนในเด็กแต่ละกลุ่ม
ชั้นก่อนอนุบาล -อนุบาล วัย 3 – 6 ปี
เตรียมความพร้อมเด็ก จัดเด็กเข้าชั้นเรียนตามอายุ มีคุณครูเป็นพี่เลี้ยงสอน โดยยึดหลักสูตรการเรียนการสอนระดับอนุบาล เด็กจะได้รับการพัฒนา ตามขบวนการเรียนการสอน ทั้งนี้เพื่อเตรียมเด็กออกสู่สังคมภายนอก เข้าเรียนร่วมกับเด็กอื่นๆตามโรงเรียนต่างๆ
ชั้นประถมศึกษา
วัย 7 ปี มูลนิธิฯ ส่งเด็กเข้าเรียนในโรงเรียนทั้งภาครัฐบาลและเอกชน ซึ่งพวกเขาจะใช้เวลาอีก 6 ปีในการเรียนรู้วิชาต่าง ๆ ที่สอนในโรงเรียนเช่นเดียวกับเด็กทั่วโลก ทั้งการอ่าน การเขียน ภาษาไทย ภาษาอังกฤษ คณิตศาสตร์ คอมพิวเตอร์และสังคมศาสตร์
ชั้นมัธยมศึกษา
หลังจากจบประถมศึกษา เด็ก ๆ จะต้องสอบเข้าเรียนต่อในระดับมัธยมศึกษา ซึ่งพวกเขาจะเรียนต่อไปอีกเป็นเวลา 3 หรือ 6 ปี โดยขึ้นอยู่กับสิ่งที่เด็กต้องการทำในอนาคต ตัวอย่างเช่น หากเด็กเลือกที่จะเป็นช่างซ่อมรถ พวกเขาต้องไปเรียนโรงเรียนสายอาชีพหลังจากเรียนจบมัธยมศึกษาปีที่ 3 แต่หากเด็กต้องการเป็นครู เป็นหมอ หรือ เป็นพยาบาลแล้ว พวกเขาต้องเรียนจบมัธยมศึกษาปีที่ 6 ก่อนที่จะเลือกเรียนต่อในระดับมหาวิทยาลัยต่อไป
มหาวิทยาลัย
เมื่อเด็กของเราได้เลือกว่าต้องการศึกษาต่อระดับมหาวิทยาลัย แล้วเด็กสามารถสอบเข้าได้ และได้รับการตอบรับจากทางมหาวิทยาลัยแล้ว ทางมูลนิธิจะเป็นผู้รับผิดชอบค่าใช้จ่ายทั้งหมด ทั้งค่าเล่าเรียน ค่าที่พักและอาหาร แก่มหาวิทยาลัยที่เด็กเลือก เด็กหลายคนของเราประสบความสำเร็จ มีงานทำมีรายได้ช่วยเหลือตนเอง ในช่วงปิดภาคเรียน เด็กทุกคนจะได้รับการสอนเสริม วิชาคอมพิวเตอร์ ภาษาอังกฤษ ดนตรี และทำอาหาร
ห้องเด็กอ่อน
เราไม่รู้ว่าจะมีเด็กอ่อนเข้ามาที่มูลนิธิเมื่อไร แต่เราก็ไม่เคยละทิ้งเด็กแม้แต่คนเดียว สำหรับเด็กหลาย ๆ คน มูลนิธิ คือสถานที่สุดท้ายสำหรับพวกเขา ซึ่งถ้าหากเราไม่รับพวกเขาไว้ เขาก็ไม่มีที่ไหนอีกแล้ว
บางครั้งเรามีเด็กอ่อนที่อายุต่ำกว่า 3 ขวบมากถึง 50 คนภายในห้องเด็กอ่อนทั้งสองห้องของเรา ซึ่งเป็นห้องที่เด็กทารกนอนหลับ รับประทานอาหาร และเล่น ภายใต้การดูแลอย่างใกล้ชิดของพี่เลี้ยง ซึ่งปฏิบัติต่อเด็กราวกับเป็นลูกของตน นอกจากพี่เลี้ยงแล้ว ยังมีพยาบาลวิชาชีพผู้เชี่ยวชาญโรคเด็ก ซึ่งอยู่ประจำตลอด 24 ชั่วโมง และในวันเสาร์ห้องเด็กอ่อนจะมีกุมารแพทย์ไทยซึ่งได้รับการฝึกฝน ในสหรัฐอเมริกา จนเป็นผู้เชี่ยวชาญ มาตรวจสุขภาพเด็กทุกคน นับเป็นความโชคดีของเรา เพราะแพทย์ท่านนี้ ได้มาตรวจสุขภาพให้เป็นประจำทุกอาทิตย์ตลอดเวลากว่า 20 ปีโดยไม่เคยคิดค่ารักษาเลย
ห้องเด็กอ่อนเป็นห้องที่รักษาความสะอาดอย่างมากเพื่อที่เด็ก ๆ จะได้หัดคลานและเดินโดยปราศจากอันตรายใด ๆ ซึ่งเป็นที่สังเกตได้ว่าเด็กของเราหลายคนเริ่มคลานและเดินเร็วกว่าเด็กโดย ส่วนมาก เพราะพวกเขามีอิสระที่จะเคลื่อนไหว ตามใจชอบ เรามีอาสาสมัครหลายท่านที่ให้ความช่วยเหลือในห้องเด็กอ่อนของเรา โดยช่วยผู้ดูแลเด็กดูแลเด็กอีกที เมื่ออายุของเด็กเกิน 3 ปี ทางมูลนิธิ ฯจะจัดให้เด็กเข้าอยู่กลุ่มใหม่ เพื่อสะดวกในการพัฒนาเด็ก